กรมการแพทย์แนะวิธีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในเด็ก
นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี 2552 การผลิตและนำเข้าของยาปฏิชีวนะเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ได้แก่ ยาโรคหัวใจและหลอดเลือด ยาระบบประสาท ยารักษาโรคมะเร็ง สาเหตุสำคัญเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร ที่ใช้ยาไม่เหมาะสม และจากภาคประชาชนเอง ซึ่งมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ผิด จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งใช้ ท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดวิกฤติปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเด็กที่เกิดมาต้องสัมผัสหรือได้รับยาปฏิชีวนะจากการกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับหรือผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลถึงวงกว้างไปถึงระดับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในระดับประเทศและระดับโลก ปัจจุบันมีข้อมูลจากการวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เด็กที่ได้รับยาปฏิชีวนะ
ในช่วงแรกของชีวิต มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภูมิแพ้ หอบหืด โรคอ้วน เนื่องจากจากปฏิชีวนะจะไปปรับเปลี่ยนแบบแผนหรือระบบนิเวศน์วิทยาของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดเชื้อการดื้อยา ซึ่งทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล จึงได้ร่วมกับแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “ร่วมรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในเด็ก : Antibiotics Smart Use in Children (ASU Kids)” ขึ้นเพื่อให้การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างสมเหตุผล บุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ เภสัชกร รวมทั้งประชาชนจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตราย และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่พ่อแม่มักให้ยาปฏิชีวนะแก่ลูกโดยไม่จำเป็น การป่วย มีไข้ ส่วนใหญ่จึงเกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้ามาก่อกวนระบบนิเวศของแบคทีเรียในร่างกาย จึงมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนภายหลังมากกว่า
รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า เมื่อลูกเจ็บป่วย พ่อแม่มักให้ลูกรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียซึ่งถือเป็นการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากร่างกายมนุษย์จะมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ตามระบบอวัยวะต่างๆจึงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยให้เชื้อแบคทีเรียอื่นเข้ามาแย่งพื้นที่การป่วยส่วนใหญ่จึงเกิดจากเชื้อไวรัสที่เข้ามาก่อกวนระบบนิเวศของแบคทีเรียในร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนภายหลังได้ ฉะนั้นหากพ่อแม่พบว่าลูกมีอาการป่วย ให้รักษาตามอาการ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่พ่อแม่มักให้ยาปฏิชีวนะแก่ลูกด้วยตนเอง ที่พบมากได้แก่ อาการไข้หวัด เจ็บคอ ท้องเสียและมีบาดแผล เป็นต้น การเจ็บป่วยส่วนใหญ่ในระยะแรกจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้น ถ้าให้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียไปตั้งแต่ช่วงแรกซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้แบคทีเรียซึ่งเป็นจุลชีพประจำถิ่นเกิดปรับตัวดื้อยา ต่อมาเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนภายหลัง จะติดเชื้อด้วยสายพันธุ์ที่ดื้อยาทำให้ทำการรักษาได้ยาก ดังนั้นการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงส่วนใหญ่ที่พบในเด็ก เช่น การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือท้องเสีย พวกนี้ในระยะแรกควรรักษาด้วยการประคับประคองเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยาปฏิชีวนะมาให้เด็กรับประทานเอง
[ Download ข้อมูลเพิ่มเติม - ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล.docx ]
แหล่งข่าวโดย » ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์
[พฤศจิกายน พฤหัสบดี 30,พ.ศ 2560 08:59:09]