ชี้ ไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากสุดในภูมิภาค

นักวิชาการชี้ ไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดในภูมิภาค 99 % ของสารเคมี พลาดเป้าแมลง พิษฟุ้งในอากาศเพียบ ส่งผลรุ่นสู่รุ่น กระทบสุขภาพระยะยาว
น.ส.แสงโฉม ศิริพานิช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวในการเสวนา "ระดมพลังร่วมกันยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อันตราย!" ในเวทีสานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้ามีการนำเข้ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น พม่า กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย จีน ปากีสถาน และเนปาล
“ที่น่าตกใจ คือ ในการฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งหนึ่งจำนวน 100 กิโลกรัม พบว่า มีโอกาสฉีดถูกแมลงเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนอีก 99 กิโลกรัมที่เหลือจะปลิวไปในอากาศ 30 กิโลกรัม ระเหยไป 10 กิโลกรัม พลาดแมลงเป้าหมาย 15 กิโลกรัม และตกค้างอยู่บนพืช ในดิน และน้ำ อีก 41 กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อลูกหลานของเกษตรกรประสบปัญหาทางด้านสุขภาพตั้งแต่แรกคลอด เนื่องจากมีการถ่ายทอดสารพิษจากแม่ไปยังลูก” น.ส.แสงโฉม กล่าว
 
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า การยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้มีการขับเคลื่อนมานานแล้ว โดยเฉพาะสารเคมีที่มีอันตรายสูง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน (carbofuran) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) อีพีเอ็น (epn) และเมโทมิล ( methomyl) แต่พบว่ายังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ ได้แจ้งกลับมายังกรมวิชาการเกษตรที่เสนอให้ยกระดับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงตามสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ รวมถึงให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนประเมินความเสี่ยงมาก่อน ทำให้ยังไม่สามารถยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้ แต่ในทางกลับกันประเทศอื่นๆ ล้วนยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดแล้ว
 
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การยกเลิกการใช้สารเคมี อาจถูกส่งเข้าตลาดมืดแทน และแอบนำมาบรรจุขวดขายให้เกษตรกร ตรงนี้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเตรียมรับมือด้วย นอกจากนี้ ควรให้ข้อมูลเรื่องอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ผ่านการทำคิวอาร์โค้ด เมื่อผู้บริโภคจะเลือกซื้อก็สามารถสแกนและทราบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากแหล่งใด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรปฏิวัติตัวเองด้วยการไม่ใช้สารเคมีมากขึ้น